ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งในอดีตจะมีลักษณะเป็นเสาท่อนใหญ่ ที่ตั้งเอาไว้บริเวณใจกลางหรือประตูเมือง โดยจะมีพิธีการทางความเชื่อ เพื่อทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลกับเมือง ซึ่งในปัจจุบันพิธีการเหล่านั้นอาจจะไม่ได้พบเห็นอีกแล้ว แต่บุคคลทั่วไปยังคงสามารถไปท่องเที่ยว หรือกราบสักการะศาลหลักเมืองเพื่อความรุ่งเรืองในชีวิตได้อยู่ โดยศาลหลักเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่มีความแตกต่างจากศาลหลักเมืองทั่วไป เพราะสามารถพบได้ถึง 2 เสาด้วยกัน
ศาลหลักเมืองกับตำนาน อิน จัน มั่น คง
ตำนานศาลหลักเมืองไม่เฉพาะแต่จังหวัดกรุงเทพมหานคร แต่หลายพื้นที่ในอดีตต่างก็มีการเล่าขานถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่จำเป็นจะต้องนำคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุม (ฝังทั้งเป็น) ไปพร้อมกับการลงเสาหลักเมืองด้วย เพื่อให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นคอยป้องปักษ์รักษาบ้านเมืองจากความชั่วร้ายทั้งปวง ซึ่งมีการทำแบบนี้มาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย กลายเป็นเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยอาถรรพ์ที่หลายคนรู้สึกไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีการทำเช่นนี้จริง
เสาหลักเมือง 2 ต้น ของกรุงเทพมหานคร
ในหลายจังหวัดของประเทศไทยต่างก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาลหลักเมือง’ โดยจะเป็นเสาเอกหนึ่งต้น แต่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครกลับเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่พบว่ามีจำนวนเสาหลักเมืองถึงสองต้น ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อเริ่มต้นศักราชใหม่ มีการยกย่องให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จักรี จึงได้มีการกำหนดให้มีพิธีวางเสาหลักเมืองขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 21 เมษายนปีพุทธศักราช 2324
ซึ่งก็เป็นกำหนดการที่ไม่ได้ผิดแปลกอะไร แต่กลับได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น โดยรายละเอียดที่เล่าสืบต่อกันมาก็คือเมื่อถึงเวลาที่จะมีการนำเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงู 4 ตัวเลื้อยลงไปในหลุมด้วย จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลยเพื่อไม่ให้เป็นการเสียฤกษ์ ดังนั้นงูทั้ง 4 ตัวจึงถูกทับตายอยู่ภายในก้นหลุม
ต่อมาจึงได้มีการทำนายดวงชะตาของเมืองขึ้นภายหลังว่า ชะตาหลังจากนี้จะอยู่ในเกณฑ์ร้ายไปเป็นเวลายาวนานถึง 7 ปี 7 เดือน จึงได้มีการฝังเสาหลักเมืองขึ้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปีพุทธศักราช 2395 จนเป็นเหตุให้กรุงเทพมหานครมีเสาหลักเมืองถึงสองต้นนั่นเอง และยังมีการสร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์รักษาเมือง ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง
ความเชื่อเกี่ยวกับศาลหลักเมือง
ศาลหลักเมือง ถือเป็นสถานที่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนได้มาสักการะเสาหลักเมือง โดยสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญและมีความเชื่อมาตั้งแต่ในสมัยก่อนจนมาถึงปัจจุบันว่าจะทำให้บ้านเมืองนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากสิ่งอันตรายต่าง ๆ เพราะว่าเสาหลักเมืองจะเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะปกป้องคุ้มครองเมืองนั้น ๆ
โดยการตั้งเสาหลักเมืองเป็นไปตามความเชื่อและเสริมสิริมงคลแก่บ้านเมืองต่าง ๆ ที่ได้สร้างขึ้นมา ทำให้เสาหลักเมืองไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังมีในจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยก็มีศาลหลักเมืองด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในเมืองนั้น
จุดสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ

จุดที่ 1
อาคารหอพระพุทธรูป เป็นจุดสักการะที่ตั้งอยู่ด้านในสุดของศาสหลักเมืองกรุงเทพมหานคร โดยการสักการะบูชาในจุดนี้สามารถนำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปภายใน จากนั้นก็สามารถทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิดได้ โดยมีความเชื่อว่าจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ และเสริมความมั่นคงให้กับชีวิตได้
นอกจากนั้นภายในยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทาย ที่ผู้คนนิยมไปเสี่ยงทายเกี่ยวกับคำถามต่าง ๆ ที่ต้องการรู้ โดยมีคำบอกเล่าต่อกันว่าถึงความแม่นยำและศักดิ์สิทธิ์ โดยมีวิธีการเสี่ยงทายแบบง่าย ๆ คือจะต้องตั้งจิตให้นิ่งก่อนทำการอธิษฐาน แล้วจากนั้นจึงท่องนะโม 3 จบ ตลอดจนระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง จากนั้นทำการโดยยกพระเสี่ยงทายตามเรื่องที่อยากรู้ได้เลย
จุดที่ 2
ศาลาองค์ศาลหลักเมืองจำลอง เป็นศาลายาวที่อยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารหอพระพุทธรูป สามารถเข้าไปถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน และยังนิยมนำผ้า 3 สี ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลัก และปิดทองด้วย
จุดที่ 3
อาคารศาลหลักเมือง ตั้งอยู่ด้านหน้าสุดและเป็นอาคารหลักตรงกลางของศาลหลักเมือง ผู้คนทั่วไปสามารถนำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมืองได้ โดยเสาหลักเมืองของกรุงเทพมหานครองค์แรกนี้มีมียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ในขณะที่เสาหลักเมืององค์ใหม่ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ตัวยอดเสาจะเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์
จุดที่ 4
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ศาลหลักเมือนี้ไม่ได้มีแต่เสาซึ่งเป็นหลักของบ้านเมือง แต่ยังมีการประดิษฐานเทพารักษ์ทั้ง 5 เอาไว้อีกด้วย ดังนั้นจุดต่อไปที่ควรจะไปสักการะก็คือบริเวณอาคารศาลเทพารักษ์ โดยสามารถนำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ได้ ก่อนจะขอพรให้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ขอให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากอันตรายทั้งปวงได้ด้วย
จุดที่ 5
อีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเยือนก็คืออาคารที่มีบริการจุดน้ำมันตะเกียงได้ด้วย โดยการจุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง โดยสามารถเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดเพื่อความสว่างไสวในชีวิต ช่วยในเรื่องความเจริญรุ่งเรือง ทั้งยังสามารถเติมน้ำมันตะเกียงเพื่อสะเดาะเคราะห์ ขจัดทุกข์โศกออกไปจากชีวิตได้ด้วย
ข้อควรระวังในการแต่งกายเมื่อไปศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศยกย่องศาลหลักเมืองขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2518 จึงถือได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญ และเป็นโบราณสถานแห่งสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังนั้นสำหรับบุคคลทั่วไปที่จะเข้าไปเยี่ยมชมหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน จึงจำเป็นจะต้องแต่งกายให้สุภาพ สำรวม โดยมีแนวทางการแต่งกายและข้อควรระวัง ดังนี้

- ผู้ชายควรสวมเสื้อผ้าสีสุภาพ สวมกางเกงขายาว และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อกล้าม
- ผู้หญิงควรแต่งกายให้มิดชิด สุภาพ สามารถใส่กางเกงหรือกระโปรงก็ได้ แต่ควรจะเป็นกางเกงหรือกระโปรงที่ยาวคลุมเข่า หลีกเลี่ยงชุดไม่สุภาพ รัดรูป
อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง : https://bangkokcitypillarshrine.com/